ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน บอกกับเราว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะเป็นความหวังให้กับประเทศนี้ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจุบันแหล่งผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศมาจากก๊าซธรรมชาติถึงกว่าร้อยละ 70 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงาน หากต้นกำเนิดพลังงานในส่วนนี้ขาดแคลน เพื่อเพิ่มความมั่นคง การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงจำเป็น เพราะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ต้นทุนการผลิตต่ำและคงที่
อีกด้านหนึ่งจำนวนผู้คนที่ต้องอพยพหลายแสนคน เสียชีวิตอีกหลายหมื่นคน และผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากเหตุการณ์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระเบิดที่ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่เตือนใจผู้คนว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ไม่ว่าที่ไหนในโลกมันคือหายนะ จากการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย แต่ละพื้นที่ต่างมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และมีชีวิตผู้คนจำนวนมากอยู่ในนั้น ดังนั้นถ้าเดาอนาคตได้ เราแทบจะไม่ต้องถกเถียงกันว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความคุ้มค่ากับการลงทุนจริงหรือไม่
แนวคิดการสร้าง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในประเทศไทย
แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2509 เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เสนอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อศึกษาความเหมาะสม สถานที่ตั้ง และรูปของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บริเวณอ่าวไผ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี หลังการสำรวจและเตรียมการต่างๆ ในปี 2515 มีคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 166 ประกาศให้บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จนกระทั่งในปี 2521 รัฐบาลอนุมัติให้เปิดประมูล แต่สุดท้ายต้องเลื่อนโครงการออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากเกิดการคัดค้านจากประชาชน
แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2549 รัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2550-2564 (PDP2007) ซึ่งกำหนดให้มีสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในปี 2563 และ 2564 จำนวนโรงละ 1,000 เมกกะวัตต์ นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงาน ให้จัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) และเห็นชอบแผนการดำเนินงานและวงเงินงบประมาณในช่วงเตรียมเริ่มโครงการ 3 ปีแรกระหว่างปี 2551-2553
พื้นที่เหมาะกับการสร้าง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 อันดับ
1) อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี
2) ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์
3) ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด
4) ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี
5) ปากน้ำละแม อ.ละแม จ.ชุมพร
ปัจจุบัน หลังรัฐประหารปี 2557 ประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP2015) โดยในแผนมีการกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 โรง ในปี 2569 และ 2570 จำนวนโรงละ 1,000 เมกกะวัตต์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สร้างไม่ง่าย จะสร้างต้องเตรียมการมากกว่า 10 ปี
ถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องเตรียมการมากกว่า 10 ปี ต้องปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศ การลงสัตยาบันในกฎหมายระหว่างประเทศ ในประเทศต้องมีหน่วยงานกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์ ในทางสากลต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ IAEA (The International Atomic Energy Agency) และที่สำคัญต้องสร้างการยอมรับจากประชาชน สันติ โชคชัยชำนาญกิจ ผู้ประสานงานโครงการจับตาพลังงาน อธิบายปัจจัยในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
สำหรับกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.).กำลังพิจารณาอยู่ เมื่อดูเนื้อหาอาจกล่าวได้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำให้เห็นเค้าลางของการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต เนื่องจากกำหนดให้มีคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งให้คำแนะนำในการออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานต่างๆ และให้ความเห็นชอบการตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตามในความเห็นของ สันติ ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ ก็เป็นเพียงส่วนเดียว หากจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศไทยยังต้องออกกฎหมายอีกหลายฉบับ โดยปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์ในประเทศไทยยังล้าหลังอยู่มาก มีเพียง พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 ซึ่งให้เพียงศึกษา และใช้มานาน ยังไม่มีการปรับปรุง
แนวโน้มโลกต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงใหม่ลด โรงเก่าหาย
หลังเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2554 ส่งผลให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ เริ่มทบทวนนโยบายการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ ขณะเดียวกันหลายประเทศก็เกิดการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนกดดันให้ยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศเยอรมันเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่ประกาศปิดการเดินเครื่อง 9 โรง จากที่มีอยู่ 17 โรง และจะปิดเพิ่มอีกภายในปี 2565 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็มีแผนจะเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในปี 2577 ขณะที่ประเทศอิตาลีและลิธัวเนีย ประชาชนส่วนใหญ่บอกผ่านการประชามติว่า ไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในเอเชียผู้นำของประเทศไต้หวันและญี่ปุ่นต่างเรียกร้องให้ลดการพลังงานจากนิวเคลียร์อย่างเร็วที่สุด
ในทางตรงกันข้าม ประเทศจีนก็กำลังเดินหน้าก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ถึง 32 แห่ง รวมทั้งในเกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซียเองก็กำลังพิจารณาเพื่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มเติม อย่างไรก็ดีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กำลังเดินเครื่องอยู่ใน 31 ประเทศขณะนี้ ในอีก 10 -15 ปีข้างหน้าจะมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ประมาณ 100 แห่งที่จะต้องถูกปิด
อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนเบิล ประเทศยูเครน
ในวันที่ 26 เมษายน 2529 เป็นอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก สาเหตุมาจากความผิดพลาดทางเทคโนโลยี และความผิดพลาดของผู้ควบคุมการเดินเครื่อง ทำให้แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดระเบิดอย่างรุนแรง ไฟลุกไหม้อยู่เป็นเวลา 10 วัน สารกัมมันตภาพรังสีในเตาปฏิกรณ์ฟุ้งขึ้นไปในอากาศและถูกพัดพาไปหลายพันกิโลเมตร พื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรถูกประกาศเป็นเขตห้ามอยู่อาศัย โดยมีประชาชน 2-4 แสนคนที่ถูกอพยพออกไป และไม่สามารถกลับมาได้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน
เมื่อปี 2549 องค์การอนามัยโลกเปิดเผยข้อมูลว่า มีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเชอร์โนบิลรวมประมาณ 9,000 คน แม้พื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรจะยังคงเป็นเขตหวงห้าม แต่พื้นที่โดยรอบที่ปนเปื้อนด้วยรังสีอันตรายยังมีผู้อยู่อาศัยกว่า 7 ล้านคน และส่วนใหญ่ในจำนวนนี้กำลังทนทุกข์ทรมานกับโรคต่างๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง
จับตา รัสเซีย-จีน ฉวยโอกาสทรัมป์โดนฟ้อง
ระทึก แผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 7 เขย่าอินโดนีเซีย
จุกๆ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย คืนที่ผ่านมา
Where to travel asia Kind Mid Spirit
สามารถติดตามบทความอื่นๆได้ที่ https://www.spip-herbier.net/
สนับสนุนโดย ufabet369
ที่มา ilaw.or.th